ค่าเสียหายส่วนแรก คืออะไร?

คนที่มีรถยนต์ และได้ทำประกันภาคสมัครใจไว้ จำเป็นต้องรู้? 

     ประกันรถยนต์ ชั้น 1 แบบไหนบ้างที่ ต้องเสีย ค่าเอ็กเซส (Excess) และ ไม่ต้องเสียค่าเอ็กเซส (Excess) ?

     กรณีที่รถยนต์ของเราเกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่? เราก็คาดหวังว่าบริษัทประกันภัยจะช่วยเยียวยาความเสียหายทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ ทำไมพอเราจะนำรถยนต์ไปเคลมความเสียหาย ต้องมีค่าใช้จ่ายที่บริษัทเรียกเก็บก่อน ที่เรียกว่า ค่าเสียหายส่วนแรก ด้วย?

     ข้อสงสัยนี้ เรามีคำตอบมาบอก เพื่อให้หายสงสัยกัน ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักความหมายความเสียหายส่วนแรกกันก่อนครับ


     ค่าเสียหายส่วนแรก คือ จำนวนเงินส่วนแรกของความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบเอง โดยจ่ายเงินก่อน นำรถยนต์เข้าเคลมความเสียหาย

โดยค่าเสียหายส่วนแรกนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

     1. ค่าเสียหายส่วนแรกตามเงื่อนไข เรียกว่า เอ็กเซส (Excess) เป็นค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขมาตรฐานของกรมธรรม์ ยกตัวอย่าง ในส่วนของการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หมวดความคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ก็จะมีค่าเสียหายส่วนแรกกำหนดไว้ดังนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องเสียค่าเสียหาย 1,000 บาทแรกของความเสียหายอันมิได้เกิดจากการชนหรือคว่ำหรือกรณีที่เกิดจากการชนแต่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถระบุคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เช่น รถมีร่องรอยขีดข่วนหรือรถคันเอาประกันภัยถูกรถยนต์คันอื่นชนแล้วหนีและผู้เอาประกันภัยจำทะเบียนรถไม่ได้ เป็นต้น

     2. ค่าเสียหายส่วนแรกตามความสมัครใจ เรียกว่า ดีดัก (Deductible หรือ DD.) คือ ค่าเสียหายส่วนแรกตามความสมัครใจที่ผู้เอาประกันภัยตกลงกับบริษัทประกันภัย โดยระบุไว้ในกรมธรรม์ว่าจะรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายในส่วนนี้เองหากเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากการตกลงเรื่องค่าเสียหายส่วนแรกในกรณีนี้คือ ผู้เอาประกันภัยจะได้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเงื่อนไขการขอส่วนลดเพื่อระบุความเสียหายส่วนแรกตามความสมัครใจนี้จึงเหมาะสมกับผู้เอาประกันที่ขับรถดี ไม่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ นะครับ

     ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องมีเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนแรกนั้น นอกจากเพื่อป้องกันการทุจริตแล้ว ยังออกมาเพื่อป้องกันมิให้เกิดมีการเรียกร้องค่าสินไหมที่สูงเกินความเป็นจริง ดังนั้นเงื่อนไขนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้ใช้ความระมัดระวังในการใช้รถยนต์ และดูแลรักษารถยนต์ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะการประกันภัยไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ทุกสิ่งอย่างตามต้องการ โดยวัตถุประสงค์ของการประกันภัย เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายเท่านั้น ดังนั้นการที่จะไม่ให้เกิดเหตุหรือทำให้ความเสียหายลดลงจึงต้องอาศัยผู้ใช้รถเป็นส่วนสำคัญด้วยนะครับ

  • กรณี ไม่เก็บ ค่าเสียหายส่วนแรกเอ็กเซส (Excess) 
    1. รถชนกับพาหนะอื่นและแจ้งรายละเอียดคู่กรณีได้
    2. ชนคน
    3. ชนสุนัข/ชนสัตว์
    4. รถชนเสา/ชนประตู
    5. รถชนต้นไม้ยืนต้น /ชนเสาไฟฟ้า
    6. รถชนกำแพง
    7. ชนฟุตบาธ
    8. รถพลิกคว่ำ
    9. รถชนราวสะพาน
    10. รถชนกองดิน หรือชนหน้าผา
    11. รถชนป้ายจราจร
    12. รถชนทรัพย์สินอื่นใดที่ยึดแน่นตรึงตรากับพื้นดิน

 

  •  กรณีเรียก เก็บ ค่าความเสียหายส่วนแรกเอ็กเซส (Excess) 
    1. รถถูกขีดข่วน/กลั่นแกล้ง
    2. รถถูกสัตว์กัดแทะหรือขีดข่วน
    3. หินหรือวัสดุใดกระเด็นใส่
    4. เฉี่ยวกิ่งไม้/สายไฟ/ลวดหนาม
    5. รถตกหลุม / ครูดพื้นถนน
    6. เหยียบตะปู / วัสดุมีคม /ยางฉีก
    7. รถถูกละอองสี / หรือวัสดุใดหล่นมาโดน
    8. กระจกรถแตก
    9. ไถลตกข้างทาง แต่ไม่พลิกคว่ำ
    10. ถูกวัสดุในตัวรถกระแทกหรือกรีดโดน
    11. ภัยธรรมชาติ / น้ำท่วม
    12. รถถูกสัตว์กัดแทะหรือขีดข่วน
    13. กรณีอื่นๆ แจ้งเหตุไม่ชัดเจน
    .
    หมายเหตุ
    – ตามแนวทางปฎิบัตินี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีความชัดเจนจากคู่มือตีความของ คปภ.

 

คำถาม : การจ่ายค่าเอ็กเซส (Excess) 

     ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ในกรมธรรม์จะระบุไม่มีค่าเอ็กเซส (Excess) แต่เวลาเคลมความเสียหายค่าซ่อมรถยนต์ ทำไมมีค่าเอ็กเซส (Excess) ด้วย บริษัทประกันจะอ้างว่าเป็นระเบียบของ คปภ. ระบุไว้ อยากทราบว่ามีกรณีไหนบ้างที่ต้องเสียค่า Excess สำหรับประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่ในกรมธรรม์ระบุไม่มีค่าเอ็กเซส (Excess)

คำตอบ : จากเจ้าหน้าที่ คปภ.

    โดย เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หมวดความคุ้มครองต่อรถยนต์ ข้อ. 4 นั้น ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนแรก ดังนี้
เก็บเงิน 1,000 บาทแรกของความเสียหายอัน มิได้กิดจากการชนหรือการพลิกคว่ำ เช่น


     – ความเสียหายจากการมุ่งร้าย กลั่นแกล้ง ที่ไม่สมารถระบุตัวผู้กระทำ วันเวลา สถานที่ ได้  


    – ความเสียหายจากการกระทบกับวัตถุ สิ่งของ ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายเฉพาะพื้นผิวของสีรถยนต์ โดยไม่มีส่วนใดของตัวรถยนต์ หรืออุปกรณ์ของรถได้รับความเสียหาย


    – ไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายได้ชัดเจน รวมถึงไม่สามารถระบุวัน เวลา และสถานที่ที่ได้รับความเสียหายได้ชัดเจน


    – ไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ กรณีเฉี่ยวชนกับรถยนต์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *